เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
1. พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
2. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย...
3. พิจารณาเห็นจิตในจิต...
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า แดนบิดาของตนอันเป็นโคจร" แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า
โคจร ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นนี้ รวมความว่า พึงมีโคจรในศาสนานี้
อย่างไร

ว่าด้วยศีลและวัตร
คำว่า พึงมีศีลและวัตรอย่างไร อธิบายว่า พระสารีบุตรเถระถามถึงความ
บริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรว่า ภิกษุพึงประกอบด้วยศีลและวัตรเช่นไร คือตั้งไว้อย่างไร
มีประการอย่างไร เปรียบเทียบได้กับอะไร ความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรเป็นอย่างไร
เป็นศีลและวัตรก็มี เป็นวัตรแต่ไม่ใช่ศีลก็มี
เป็นศีลและวัตร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์
สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความสังวร การไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทเหล่านั้น
นี้ชื่อว่าศีล การสมาทาน ชื่อว่าวัตร ชื่อว่าศีล เพราะมีความหมายว่า สังวร
ชื่อว่าวัตร เพราะมีความหมายว่าสมาทาน นี้เรียกว่า ศีลและวัตร
เป็นวัตรแต่ไม่ใช่ศีล เป็นอย่างไร
คือ ธุดงค์ 8 ข้อ ได้แก่
1. อารัญญิกังคธุดงค์ 2. ปิณฑปาติกังคธุดงค์
3. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ 4. เตจีวริกังคธุดงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :574 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
5. สปทานจาริกังคธุดงค์ 6. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์
7. เนสัชชิกังคธุดงค์
8. ยถาสันถติกังคธุดงค์1 นี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
แม้การสมาทานความเพียร ก็เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
เนื้อและเลือดในร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนังเอ็นกระดูกก็ตามทีเถิด
ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ
ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุด ความเพียร แม้การ
สมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
"เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน2"
การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เลย แม้การสมาทาน
ความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราก็จักไม่ลุกจากที่นั่ง... ไม่ลงจากลานจงกรม...
ไม่ออกจากวิหาร... ไม่ออกจากเรือนหลังคาด้านเดียว... ไม่ออกจากปราสาท...
ไม่ออกจากเรือนโล้น... ไม่ออกจากถ้ำ... ไม่ออกจากที่หลีกเร้น... ไม่ออกจากกุฎี...
ไม่ออกจากเรือนยอด... ไม่ออกจากป้อม... ไม่ออกจากโรงกลม... ไม่ออกจากเรือนที่
มีเครื่องกั้น... ไม่ออกจากศาลาที่บำรุง... ไม่ออกจากมณฑป... ไม่ออกจากโคนไม้นี้
แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล

เชิงอรรถ :
1 ดูคำแปลจากข้อ 17/79
2 ขุ.เถร.(แปล) 26/223/374

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :575 }